ประวัติความเป็นมา

เมื่อวันที่ 5  มีนาคม  2540  พลเอกเทียนชัย  จั่นมุกดา  รองสมุหราชองครักษ์  ได้อัญเชิญพระกระแสพระราชดำริ  พระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัว แจ้งแก่ผู้อำนวยการสำนักงานกิจกรรมพิเศษ  กรมชลประทาน ให้ตรวจสอบสภาพปัญหาข้อขัดแย้ง ของสถานสูบน้ำด้วยไฟฟ้า
เขตนิคมสร้างตนเองลำปาวกาฬสินธุ์   จำนวน  3  สถานี  ซึ่งเสียหาย
ไม่สามารถใช้งานได้
ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2540    ณ  ศาลาสิตตาลัย พระตำหนักจิตรลดาลโหฐาน   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   ได้พระราชทาน
พระราชดำริเกี่ยวกับโครงการฟื้นฟูและบูรณะสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า   ดังกล่าว  ว่าจะใช้วิธีการสูบน้ำจากจุดเดียว     แนวเดียวจากต่ำไปสูง
ทางเดียวกันไม่ได้ต้องทีละทอด  ให้ทำอ่างพักน้ำก่อนแล้วสูบต่อออกไป เป็นทอด ๆ อาจเป็นอ่างพักน้ำแยกกันต่อมิใช่ 3 แห่ง
วัตถุประสงค์ของโครงการ

เพื่อจัดหาแหล่งน้ำให้กับราษฎร ที่อพยพจากพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม  เนื่องจากการสร้างอ่างเก็บน้ำลำปาว   มาอยู่ที่นิคมสร้างตนเองลำปาว
ที่มีพื้นที่อยู่ในเขตอำเภอสหัสขันธ์ และอำเภอเมือง  จังหวัดกาฬสินธุ์
การพิจารณาโครงการ

จากการตรวจสอบสภาพภูมิประเทศจริง และเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมในสนาม และพิจารณาแผนที่มาตราส่วน 1:50,000  ของกรม
แผนที่ทหาร  หมายเลขระวาง 5742 III ประกอบปรากฏว่า ลำห้วยเสือเต้น เป็นลำห้วยที่อยู่ในท้องที่     ตำบลโนนน้ำเกลี้ยง     อำเภอสหัสขันธ์ 
จังหวัดกาฬสินธุ์   ต้นกำเนิดจากภูกุ้มข้าว แล้วไหลลงทางด้านทิศใต้มารวมกับทางน้ำที่ไหลมาจากอาคารฝายน้ำทิ้ง ของอ่างเก็บน้ำห้วยเสือเต้น
ที่บริเวณด้านใต้ของบ้านห้วยเสือเต้น รวมเป็นต้นน้ำแล้วไหลลงทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้  ผ่านบ้านห้วยเสือเต้น  และบ้านป่ากล้วย   ผ่าน
ท่อลอดถนนลงสู่อ่างเก็บน้ำห้วยด่าน  ก่อนที่จะไปบรรจบกับห้วยด่าน     แล้วไหลลงอ่างเก็บน้ำลำปาว     ที่บริเวณด้านทิศใต้ของบ้านคำประถม
ตำบลนิคม  อำเภอสหัสขันธ์  รวมความยาวประมาณ 3  กม.  สภาพทั่วไปของลำห้วยเป็นร่องน้ำขนาดเล็ก    ตลอดลำห้วยจะมีแอ่งน้ำเป็นช่วง ๆ
และมีสภาพตื้นเขินน้ำไหลไม่ตลอดปี
การพัฒนาที่ผ่าน ๆ มา

อ่างเก็บน้ำห้วยเสือเต้น เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก  ก่อสร้างเมื่อ ปี พ.ศ.2526  ที่ประมาณพิกัด  48QUD 447 - 437  ระวาง  5742  III
พื้นที่รับน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำประมาณ 1.00 ตร.กม.อาคารหัวงานเป็นทำนบดินสูง 4.50  เมตร  ยาว  300  เมตร สันกว้าง  4.00  เมตร   ปิดกั้น
ลำห้วยเสือเต้น  ความจุประมาณ  68,000  ลบ.ม.  อาคารระบายน้ำแนบรางเท  กว้าง  3.00  เมตร      สภาพของอาคารโดยรวมยังอยู่ในสภาพ
ข่อนข้างดี  เมื่อปีงบประมาณ  2539  โครงการชลประทานกาฬสินธุ์ได้พัฒนาขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยเสือเต้น โดยใช้งบประมาณในการขุดลอก
ประมาณ 1,800,000 บาท
สภาพการใช้ประโยชน์ของราษฎร

ราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณลำห้วยเสือเต้น    ใช้น้ำสำหรับอุปโภคบริโภค  การเกษตร   และเลี้ยงสัตว์ได้เฉพาะในฤดูน้ำหลากเท่านั้น
ส่วนฤดูแล้งน้ำจะแห้ง  เนื่องจากลำห้วยมีขนาดเล็ก   ไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้เลย
การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อกำหนดแนวทางพัฒนา

จากการตรวจสอบสภาพภูมิประเทศในสนาม 
        เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม และพิจารณาแผนที่มาตราส่วน 1 : 50,000 ของกรม 
        แผนที่ทหาร หมายเลขระวาง 5742 III พบว่า ศักย-ภาพของภูมิประเทศและน้ำท่าของโครงการมีความเหมาะสมที่จะพัฒนา 
        ควรศึกษาใน ขั้นตอนต่อไป โดยกำหนดโครงการเป็นประเภทฝายทดน้ำในลำห้วย จำนวน 
        5 โครงการ และโครงการขุดลอกลำห้วย 1 โครงการ ให้ เบื้องต้นสามารถกำหนดที่ติดตั้งโครงการ 
        ตลอดจนสามารถหาพื้นที่รับน้ำเหนือหัวงานจากแผนที่มาตราส่วน 1 : 50,000  
      
ปริมาณน้ำไหลลงหัวงานโครงการ
เนื่องจากบริเวณที่กำหนดเป็นจุดที่ตั้งโครงการ ในลำห้วยเสือเต้นไม่มีสถานีวัดน้ำท่า จึงเลือกวิธีวิเคราะห์ประมาณน้ำไหลผ่าน หัวงานด้วยวิธีทางอ้อม โดยประเมินจาก Specific Yeild Map and Preciptation ในกรณีของโครงการขุดลอกลำห้วยและฝายทดน้ำจำนวน 5 แห่ง เป็นโครงการที่อยู่ในลำห้วยเสือเต้นทั้งหมด
ดังนั้น จึงเลือกสถิติน้ำฝนเฉลี่ยของสถานี 1142 อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งปี 1,307.20 มม.จำนวน วันที่ฝนตกทั้งปี 60.50 วัน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการคำนวณหาปริมาณน้ำไหลผ่านหัวงาน
ปริมาณการใช้น้ำจากโครงการ
ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ คือการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และเสริมการเกษตรของราษฎร ปริมาณน้ำที่ต้องการ ใช้จากโครงการจึงแยกเป็น 2 ส่วน ตามลำดับความสำคัญดังนี้
ปริมาณน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค ประเมินจากอัตราการใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ ของคนและจำนวนประชากรในหมู่บ้าน บริเวณที่ตั้งโครงการ โดยคิดอัตราการใช้น้ำสำหรับกรณี ระหว่าง 60-120 ลิตร/คน/วัน สำหรับอัตราการใช้น้ำอุปโภคบริโภคจากโครงการ พัฒนาแหล่งน้ำผิวดินในลำห้วยเสือเต้นประมาณ 24,246 ลบ.ม./ปี
ปริมาณน้ำสำหรับเกษตรกร แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงฤดูฝน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำนา และในช่วงฤดูแล้งเป็น การเพาะปลูกพืชไร่ และพืชผักสวนครัวส่วนการใช้น้ำสำหรับการเกษตรของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำผิวดิน ในลำห้วยเสือเต้น ใช้เกณฑ์ เฉลี่ยของจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งแสดงในตารางแสดงปริมาณที่ต้องส่งเพิ่มเติม จากหนังสือคู่มือการพิจารณาความเหมาะสมเบื้องต้นโครงการ พัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กของงานพิจารณาโครงการ ฝ่ายวิศวกรรมสำนักชลประทานที่ 5 โดยใช้น้ำสำหรับการเกษตร ในช่วงฤดูฝน ประมาณ 2,007.70 ลบ.ม./ไร่
ขนาดลำห้วยที่ควรดำเนินการขุดลอก
การกำหนดขนาดขุดลอกลำห้วยที่เหมาะสมมีข้อจำกัดอยู่ 2 อย่างคือ
ถูกจำกัดด้วยสภาพภูมิประเทศ คือปริมาณน้ำไหลลงลำห้วยมาก แต่บริเวณที่จะเก็บกักน้ำมีน้อย การกำหนดขนาด ของการขุดลอกควรกำหนดให้เก็บให้มากที่สุดตามสภาพภูมิประเทศอำนวย
ถูกจำกัดด้วยสภาพน้ำท่า คือ ปริมาณน้ำไหลลงลำห้วยน้อย แต่บริเวณที่จะเก็บน้ำมีมากกรณีนี้การกำหนดขนาดของ การขุดลอกควรมีขนาดประมาณ 60 % ของปริมาณน้ำไหลผ่านหัวงาน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดศักยภาพสูงสุดทางวิศวกรรมชลประทาน และสิทธิ การใช้น้ำของราษฎรบริเวณโครงการ
จากกรณีโครงการขุดลอกลำห้วยเสือเต้น จัดอยู่ในข้อจำกัดในข้อ 1 และถูกจำกัดด้วยการยินยอมให้ใช้ที่ดินของราษฎร บริเวณโครงการสามารถกำหนดขนาดของการขุดลอก เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำได้มากที่สุด โดยจะดำเนินขุดลอกตลอดความยาวลำห้วย ประมาณ 3.00 กม.พร้อมทำทำนบดินรอบลำห้วยขนาดสูง 1 ม. และกว้าง 4 ม. พร้อมลงลูกรัง เพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรและทางลำเลียงผล การผลิตทางการเกษตร
ปริมาณน้ำนองสูงสุด และความกว้างฝาย
ตามหลักเกณฑ์ในหนังสือคู่มืองานเขื่อนดินขนาดเล็ก และฝายสามารถประเมินปริมาณน้ำนอง และความกว้างสันฝายของแต่ละจุด ในลำห้วยเสือเต้น
ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
เมื่อปรับปรุงและพัฒนาโครงการแล้วเสร็จจะทำให้ราษฎรในเขตในโครงการมีน้ำใช้เพื่อเป็นปัจจัยในการพัฒนากิจกรรมด้านต่าง ๆ อย่างเพียงพอ เช่นน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค การเกษตร และประมง เป็นต้น
กลับหน้าแรก